โรลส์รอยซ์ เตรียมเปิดดีลใหม่กับแอร์ไลน์ชั้นนำของไทยและเอเชีย พร้อมเสนอขายเครื่องยนต์อากาศยาน รับลูกแผนจัดหาฝูงบินใหม่ของเจ้าจำปี โดยเฉพาะ โบอิ้ง 777 และแอร์บัส A350 ประเมินมูลค่าสัญญาราว 5.4 หมื่นล้านบาท หลังเพิ่งได้ออร์ดอร์ไปร่วมหมื่นล้านบาท ในรุ่นแอร์บัสเอ330 รวมถึงติดตั้งเครื่องยนต์ ให้บางกอกแอร์เวย์สในฝูงบินใหม่แอร์บัสเอ350 ที่จะเริ่มบินในปี58 ชูจุดเด่นขายพ่วงสัญญาโทเทิล แคร์ ครอบคลุมการบริการระยะยาวร่วม 10 ปี
นายยวน แม็คโดนัลด์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโรลส์ รอยซ์ ประเทศไทย จำกัด (ผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกในด้านระบบพลังงานและบริการเพื่อการใช้งาน ทั้งภาคพื้นดิน ท้องทะเล และทางอากาศ) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปีหน้าว่า โรลส์ รอยซ์เตรียมเปิดเจรจากับบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเสนอขายและติดตั้งเครื่องยนต์อากาศยานพร้อมบริการTotalCare (สัญญาการให้บริการระยะยาวเป็นเวลา 10 ปี) สำหรับรองรับเครื่องบินใหม่ซึ่งการบินไทยอยู่ระหว่างวางแผนจัดหาฝูงบินใหม่ โดยอาจรวมถึงอากาศยานโบอิ้งในรุ่นB777 และแอร์บัสA350 "เนื่องจากโรลส์ รอยซ์ เป็นผู้ผลิตรายเดียวที่ผลิตเครื่องยนต์ทั้ง 2 รุ่น ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ในปีหน้า หากการบินไทยเลือกใช้เครื่องยนต์ของโรลส์รอยซ์ทั้งโบอิ้ง 777 และแอร์บัส A350 คาดว่าจะมีมูลค่าสัญญาอยู่ที่ราว 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 54,000 ล้านบาท) โดยก่อนหน้านี้การบินไทยได้สั่งซื้อเครื่องยนต์เทรนท์ 700 ของโรลส์รอยซ์ สำหรับขับเคลื่อนฝูงอากาศยาน A330 จำนวน 7 ลำ ซึ่งเป็นสัญญามูลค่า 390 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 11,700 ล้านบาท) โดยรวมถึงสัญญาการให้บริการระยะยาวTotalCare สำหรับอากาศยาน A330 ทั้งหมด ซึ่งจะส่งมอบกันในปี 2554 ด้วย"
ขณะเดียวกันสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ยังได้เลือกเครื่องยนต์เทรนท์ XWB สำหรับอากาศยาน A350 จำนวน 4 เครื่องจากแอร์บัส อากาศยานทั้งหมด โดยจะเริ่มบินในปี 2558 ด้วย
นายแม็คโดนัลด์ กล่าวว่าโรลส์รอยซ์มีเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานโบอิ้ง 777 และแอร์บัส A350 ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมก้าวหน้าที่สุดเท่าที่เคยผลิตมา เป็นเครื่องยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากและเผาไหม้เชื้อเพลิงน้อยที่สุด โดยเครื่องยนต์ เทรนท์ 1000 สำหรับขับเคลื่อนอากาศยานโบอิ้ง 777 และเทรนท์ XWB สำหรับขับเคลื่อนอากาศยาน A350 ซึ่งขณะนี้เทรนท์ 1000 กำลังอยู่ในระหว่างการทดลองบินกับโบอิ้ง โดยจะส่งมอบเครื่องยนต์เครื่องแรกให้แก่สายการบินออล นิปปอน แอร์เวย์ส หรือ ANA ในราวครึ่งปีแรกของปีหน้า รวมทั้งโรลส์รอยซ์ กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาเครื่องยนต์เทรนท์ XWB และได้เริ่มทดลองเดินเครื่องครั้งแรกแล้ว คาดจะส่งมอบกันในปี 2557
พร้อมกันนี้โรลส์รอยซ์ ยังนำเสนอ สัญญาบริการโทเทิล แคร์ ให้กับสายการบินต่างๆที่ติดตั้งเครื่องยนต์อากาศยานของบริษัทด้วย ซึ่งจะเป็นสัญญาการให้บริการระยะยาว 10 ปี ที่จะช่วยดูแลจัดการค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่มาจากเครื่องยนต์เทรนท์ 700 บนอากาศยาน A330 รวมถึงการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงด้านการเงินที่จะเกิดจากเครื่องยนต์ และจะช่วยให้การบินไทยสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายล่วงหน้าได้เป็นเวลา 10 ปี ตลอดสัญญาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเกิดขึ้น "ตลอดระยะเวลาในสัญญา การบินไทยจะจ่ายเงินตามอัตราที่กำหนดไว้ตามชั่วโมงปฏิบัติการจริงของเครื่องยนต์ โดยหากเดินเครื่องมาก ก็จะมีค่าใช้จ่ายให้โรลส์รอยซ์มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันการบินไทยก็จะมีรายได้จากการให้บริการมากขึ้น และหากเดินเครื่องยนต์น้อยลง ก็จะมีค่าใช้จ่ายน้อยลงตามไปด้วย ดังนั้นบริการโทเทิล แคร์ จะช่วยให้การบินไทยสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะ
ในช่วงที่เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ"นายแม็คโดนัลด์ กล่าวและว่า
นอกจากนี้ โรลส์รอยซ์ ยังได้เจรจากับลูกค้าทุกรายในภูมิภาค รวมทั้งสายการบินหลายสายในเอเชีย เพื่อวางแผนปรับปรุงฝูงบินใหม่ ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงที่ตลาดมีความคึกคัก คาดว่าในอีก 5-10 ปี เอเชียจะเป็นภูมิภาคที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมการบินเพราะมีศักยภาพในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และ โรลส์รอยซ์ ยังเป็นผู้นำที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในตลาดเครื่องยนต์สำหรับอากาศยาน A330 ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 3 รุ่น และโรลส์รอยซ์มีส่วนแบ่งตลาดถึง 55% โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โรลส์รอยซ์มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ราว 70% ทั้งยังเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งของลูกค้าสายการบิน เพราะจุดเด่นของเครื่องยนต์เทรนท์ 700 ที่มีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการต่ำที่สุดตลอดอายุการใช้งาน ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่สายการบินต่างๆ ให้ความสำคัญ โดยโรลส์รอยซ์ คาดว่ารายได้จากบริการในปีนี้จะเพิ่มขึ้นราว 10-20%
ด้านนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย กล่าวว่าโครงการจัดหาเครื่องบิน ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งในปี 2555 - 2556 จะจัดหาเครื่องบิน 15 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินภูมิภาค ขนาดความจุ 300 ที่นั่ง 7 ลำ ได้แก่ เครื่องบินแบบแอร์บัส เอ 330 -300 โดยวิธีเช่าทางการเงิน (Financial Lease) ใช้วงเงินที่ ครม.อนุมัติ 31,259 ล้านบาท และจะได้รับมอบในปี 2554 จำนวน 2 ลำ ปี 2555 จำนวน 3 ลำ ปี 2556 จำนวน 2 ลำ และการจัดหาเครื่องบินข้ามทวีป ขนาดความจุประมาณ 350 ที่นั่ง 8 ลำ ได้แก่ เครื่องบินแบบโบอิ้ง 777 - 300 ER โดยวิธีเช่าระยะยาว (Operating Lease) 10 - 15 ปี ใช้วงเงินผูกพันการเช่า 79,185 ล้านบาท โดยจะได้รับมอบในปี 2555 จำนวน 4 ลำ และปี 2556 จำนวน 4 ลำ
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทการบินไทยฯ กล่าวว่านอกจากการจัดหาเครื่องบินใหม่เพื่อนำมาทดแทนเครื่องบินเก่าที่จะปลดระวางในอีก 5-10 ปีข้างหน้าแล้ว ขณะนี้การบินไทยยังอยู่ระหว่างการทำแผนจัดหาเครื่องบินใหม่มาทดแทนเครื่องบินที่เริ่มมีอายุมากขึ้นทั้งฝูงบินของการบินไทย ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ จะมีเครื่องบินใหม่เกือบทั้งหมดรวมกว่า 110 ลำ ในอีก 10-15 ปีนี้(2558-2567) "ในอนาคตการบินไทยจะมีเครื่องบินใหม่กว่า 110 ลำ ได้แก่ 1.เครื่องบินแอร์บัสเอ 350 จำนวน 50 ลำซึ่งจะมี 3 รุ่น คือ แอร์บัสเอ350 รุ่น800 และแอร์บัสเอ350 รุ่น 900 เพื่อบินในเส้นทางระยะกลาง(ในภูมิภาค) และแอร์บัสเอ 350 รุ่น 1,000 ในการบินระยะไกล(บินข้ามทวีป) 2.โบอิ้ง787 จำนวน 25 ลำ เพื่อบินในภูมิภาค 3.โบอิ้ง777-300ER หรือโบอิ้ง747-800 อีก 25 ลำ เพื่อบินในเส้นทางบินระยะไกล"
Source:หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
โรลส์รอยซ์ 'เปิดดีลจำปี 5.4 หมื่นล.
www.hflight.net
No comments:
Post a Comment